วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557

CAVE AT SATUN


 

ถ้ำภูผาเพชร
 สตูล


      



• ถ้ำใหญ่กลางขุนเขาติดอันดับโลกแห่งนี้ ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางขุนเขามากกว่า 3,000 ปี อยู่ในพื้นที่อำเภอมะนัง เป็นถ้ำที่อลังการมีขนาดกว้างขวางใหญ่โตขนาดเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ หรือ 20,000 ตารางเมตร เดิมทีเรียกว่า ถ้ำลอด หรือ ถ้ำเพชร ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นภูผาเพชร เพราะความวิจิตรตระการตาไปด้วยหินงอกหินย้อยที่ส่องแสงระยิบระยับยามต้องแสง ซึ่งห้องในโถงใหญ่แห่งนี้มีมากกว่า 20 ห้อง แต่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมแค่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ทุกห้องโถงมีความแตกต่างกัน เช่น หินงอกที่เป็นเสาค้ำสุริยัน เสาหินปูนขนาดมหึมาค้ำเพดานถ้ำรอบทิศ ส่วนที่โคนเสาหินงอกนี้จะเป็นเกล็ดหินคล้ายแผ่นปะการังใต้ท้องทะเล รวมทั้งมีผ้าม่านเป็นริ้ว ๆ แปลกตา บางจุด จะมีหยดน้ำทิพย์จากเพดานถ้ำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสความบริสุทธิ์ บางคนนำมาดื่มหรือชโลมร่างกาย ถือว่าเป็นสิริมงคลและเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
• ไฮไลต์ของถ้ำภูผาเพชรแห่งนี้คือ ห้องแสงมรกต ซึ่งเมื่อเดินลึกเข้าไปด้านในสุดจะเห็นเพดานถ้ำโหว่มีแสงส่องลงมากระทบกับหินสีเขียวก้อนใหญ่ตรงใจกลางห้อง กลายเป็นลานแสงมรกตแปลกตา และสุดท้ายปลายทางเป็นห้องที่มีความมืด 100 เปอร์เซ็นต์ที่ห้องพญานาค สาเหตุที่เรียกว่าห้องพญานาคก็ด้วยเหตุผลที่ว่า กว่า 3,000 ปีมาแล้ว ที่ห้องแห่งนี้ถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้เกิดตะกอนหินปูนจับตัวกันเป็นสันนูนโดยรอบ ลักษณะคล้ายหลังพญานาคจึงตั้งชื่อว่า “ถ้ำพญานาค”
• ถ้ำภูผาเพชร ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 9 บ้านควนดินดำ ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 27 กิโลเมตร ไปตามถนนที่ลาดยางตลอดสายจนถึงบริเวณถ้ำตั้งอยู่บนเทือกเขาหินปูน ในเขตของทิวเขานครศรีธรรมราช ซึ่งนิยมเรียกว่า เขาบรรทัด ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันออก ทางขึ้นไม่ค่อยลาดชันนัก ความสูงจากพื้นราบถึงปากถ้ำประมาณ 50 เมตร ใช้เวลาในการเดินทางจากพื้นราบถึงจุดเข้าถ้ำราว 30 นาที
• ชื่อเดิมของถ้ำภูผาเพชร คือ “ถ้ำลอด ถ้ำยาว หรือถ้ำเพชร” เนื่องจากถ้ำมีความยาว ลักษณะคดเคี้ยว แบ่งเป็นหลายตอน ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย เมื่อกระทบกับแสงไฟ ผนังถ้ำมีประกายแวววาวเหมือนเพชร จึงเป็นที่มาของชื่อถ้ำเพชรก่อน ภายหลังชื่อเต็มอย่างเป็นทางการว่า ถ้ำภูผาเพชร
• ตามประวัติมีว่า เมื่อปี พ.ศ. 2517 ครอบครัวของนายช่วงและนางแดง รักทองจันทร์ ได้ย้ายเข้ามาอาศัยบริเวณถ้ำยาวเป็นครอบครัวแรก ล่วงมาปีพ.ศ. 2535 มีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาตั้งสำนักบริเวณถ้ำยาว อยู่ได้หนึ่งปีก็จากไป ก่อนจากไปท่านได้บอกชาวบ้านว่าได้เห็นทางเข้าไปในถ้ำยาว มีถ้ำน้อยใหญ่อีกหลายถ้ำ บางถ้ำมีพื้นที่กว้างขวางสวยงาม กระทั่งปี พ.ศ.2540 นายศักดิ์ชัย บุญคง สมาชิก อบต. ตำบลปาล์มพัฒนาได้ทำการสำรวจร่วมกับทางราชการและราษฏรถ้ำภูผาเพชรจึงได้เปิดโฉมหน้าให้คนทั่วไปได้รู้จักกันทุกวันนี้• พ.ศ. 2541 นักโบราณคดีของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 10 จังหวัดสงขลา ได้สำรวจบริเวณถ้ำภูผาเพชร โดยความร่วมมือของสภาตำบลปาล์มพัฒนา พบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี ประกอบด้วยกระดูกมนุษย์ยุคโบราณ พบเศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบร่องรอยส่วนก้นภาชนะดินเผา ถูกหินปูนและเปลือกหอยยึดเกาะอยู่ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า บริเวณถ้ำภูผาเพชรเคยเป็นที่อยู่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว• ถ้ำภูผาเพชรมีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ หรือ 20,000 ตารางวา แบ่งเป็นห้องเล็กห้องน้อยประมาณ 20 ห้อง ชื่อเรียกต่างกันออกไป เช่น ห้องปะการัง มีหินงอกหินย้อยคล้ายปะการังในทะเล ห้องเห็ด เต็มไปด้วยรูปดอกเห็ดขนาดต่าง ๆ ห้องม่านเพชร ลักษณะคล้ายผ้าม่านแขวนเป็นหลืบซ้อนกัน ห้องพญานาคเห็นหินงอกต่อตัวกันคล้ายงูใหญ่หรือพญานาค ส่วนห้องสวนมรกตจะมีสีเขียว ส่องแสงระยิบระยับคล้ายสีของมรกต ล้วนเป็นการรังสรรค์ของธรรมชาติโดยแท้• ถ้ำภูผาเพชรจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวบนบกแห่งใหม่ของจังหวัดสตูล การไปมาก็สะดวก มีถนนลาดยางถึงบริเวณปากถ้ำ สภาตำบลปาล์มพัฒนาดำเนินการเร่งรัดปรับปรุงสถานที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดสตูลขณะนี้



• การเดินทางสู่ภูผาเพชร : สามารถไปได้ 2 เส้นทาง คือ จากจังหวัดสตูลเข้าทางแยกควนกาหลง เข้าสู่อำเภอมะนัง หากเริ่มต้นจากจังหวัดตรังเมื่อเข้าสู่เขตสตูลให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่มะนังเช่นกัน ทั้งนี้จะมีป้ายบอกเป็นระยะๆ และต้องเดินขึ้นบันไดประมาณ 300 ขั้น (เท่านั้นเอง) ส่วนภายในถ้ำมีบันไดไม้เดินได้สะดวก
• เตรียมตัวเดินทาง : นักท่องเที่ยวควรนำไฟฉายติดตัวไปเพื่อส่องดูความงามภายในถ้ำ หรือสามารถเช่าจากชาวบ้านบริเวณทางเข้าถ้ำ และควรสวมใส่รองเท้าที่เดินสบาย























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น